นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน


     บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทย่อย ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นธรรม รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณมิตรผล ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว บริษัทกำหนดให้มี “นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักยึดให้กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอันจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน
 

ขอบเขตของนโยบาย

1. มีผลบังคับใช้กับบุคลากรมิตรผล อันได้แก่ กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร และพนักงานของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทย่อย

2. ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และหน่วยงาน รวมถึงทุกกระบวนการทำงาน และการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือกบุคลากร การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่ง
 

คำจำกัดความ

     การคอร์รัปชัน หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบ หรือประโยชน์  อันมิควรได้ ทั้งต่อองค์กร ตนเอง และหรือผู้อื่น ทั้งนี้การคอร์รัปชันครอบคลุมถึงการให้และหรือรับสินบน การเรียกร้องผลประโยชน์หรือข่มขู่การให้ผลประโยชน์ และการเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือระหว่างหน่วยงานเอกชน หรืออื่นใด

     การยักยอก หมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่นำไปสู่การครอบครองทรัพย์สินของบริษัทอย่างไม่ถูกต้องหรือเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย สูญเสียทรัพย์สิน โอกาส หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเจตนาที่จะแสวงหาประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นซึ่งครอบคลุมถึงทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสด หรือการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย

     การตกแต่งรายการทางการเงิน หมายถึง การปรับปรุงแก้ไขรายงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน เช่น งบการเงิน  บันทึกทางการเงิน หรือรายงานที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น ผลการดำเนินงาน เพื่อปิดบังการยักยอกทรัพย์ หรือแสวงหาผลประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งส่งผลให้รายงานของบริษัทไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้บริษัทเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม

     ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การทำหน้าที่ที่ต้องทำให้เกิดผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ ของบริษัท แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง เครือญาติ หรือพวกพ้อง และส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

     การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง การจ่ายค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ จะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง และการได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายค่าอำนวยความสะดวก ที่อาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน

     การให้การสนับสนุน หมายถึง การให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน สินค้า บริการ หรือให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่น (In-kind) ให้แก่การจัดงาน กิจกรรม บุคคล หน่วยงาน สมาคม หรืออื่นใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์เชิงการค้า เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและภาพลักษณ์ รวมถึงชื่อเสียงที่ดีของบริษัท

     การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การสนับสนุนทางด้านการเงิน สินค้า ทรัพย์สิน บริการ หรือในรูปแบบอื่นใด (In-kind) ให้กับกิจกรรม บุคคล หรือนิติบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณกุศลเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลประโยชน์หรือสิ่งอื่นใดตอบแทน

     การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ด้านทรัพยากร บริการ หรือรูปแบบอื่นใด (In-kind) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้กู้เงิน การบริจาคเงิน การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุน การซื้อบัตรเข้าชม หรือสนับสนุนงานที่จัดเพื่อระดมทุน เป็นต้น

     เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ เจ้าพนักงานของรัฐ หมายถึง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่หรือเจ้าพนักงานอื่นตามกฎหมาย รวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ และรวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)


หน้าที่ความรับผิดชอบ

1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล และสนับสนุนระบบการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และทันสมัย รวมถึงมีกระบวนการ ในการรับเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแสและการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรมิตรผล มีความตระหนักและให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ตลอดจนส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร

2. คณะกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน พร้อมทั้งทำการสื่อสารและสร้างความเข้าใจไปยังผู้บริหารและพนักงาน ส่งเสริมให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ตลอดจนจัดให้มีการทบทวนระบบให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันได้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ

3. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การจัดทำรายงานทางการเงินและบัญชี การบริหารความเสี่ยง กระบวนการและการปฏิบัติต่างๆ รวมถึงมีการให้คำชี้แนะและติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

4. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแล ให้ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชัน รวมทั้งให้มีการทบทวนและติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม รวมถึงมีความเป็นปัจจุบัน

5. สำนักงานตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และข้อกำหนดขององค์กรเพื่อให้มั่นใจว่ามีการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การจัดทำรายงานทางการเงินและบัญชี การบริหารความเสี่ยง กระบวนการและการปฏิบัติต่างๆ ที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงให้คำชี้แนะและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

6. บุคลากรมิตรผล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ รวมถึงนโยบาย แนวปฏิบัติและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

แนวปฏิบัติ

1. ต้องไม่กระทำการใดๆ หรือเข้าไปมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนในการกระทำที่เป็นการแสดงถึงเจตนาหรือแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบให้กับตนเอง เครือญาติ หรือพวกพ้อง อันส่งผลเสียหายต่อบริษัท และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ และนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน รวมถึงจรรยาบรรณมิตรผลอย่างเคร่งครัด

2. ต้องดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับหรือให้ของขวัญ ทรัพย์สิน การเลี้ยงรับรอง การบริการ ค่าใช้จ่าย หรือประโยชน์อื่นใด รวมถึงการบริจาค และการใช้เงินสนับสนุนอย่างถูกต้องตามระเบียบและแนวปฏิบัติของบริษัท สอดคล้องกับกฎหมาย และต้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกใช้เป็นสินบน หรือนำมาซึ่งผลประโยชน์ขัดแย้ง

3. ต้องไม่จ้างหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่เข้ามาเป็นพนักงาน กรณีที่ต้องมีการสรรหา แต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนของบุคคลที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ขัดต่อกฎหมาย และเพื่อไม่ให้ใช้การกระทำดังกล่าวเป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ใดๆ

4. มีกระบวนการในการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชันในกิจกรรมทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

5. กำหนดให้มีขั้นตอนในการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการควบคุมภายในของกระบวนการทำบัญชี การเก็บรักษาข้อมูล รวมถึงเอกสารและบันทึกต่างๆ มีความถูกต้องและมีหลักฐานเพียงพอในการบันทึกรายการทางการเงิน รวมทั้งเพื่อยืนยันประสิทธิผลของกระบวนการตามมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

6. สำนักตรวจสอบภายในสามารถรายงานประเด็นที่พบเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชัน หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยเกี่ยวกับการกระทำนี้อย่างเร่งด่วนต่อประธานกรรมการบริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

7. ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย กรณีพบเห็นการกระทำที่ส่อเจตนา หรือเข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีความเกี่ยวข้อง  กับบริษัท โดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ ทั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครองและการรักษาความลับในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามแนวปฏิบัติการร้องเรียนที่กำหนดไว้

8. ปฏิบัติต่อผู้ถูกสอบสวนหรือผู้ถูกร้องเรียนด้วยความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน กรณีพบการกระทำทุจริตและคอร์รัปชัน หรือผิดกฎหมาย กฎ ระเบียบต่อบริษัท ผู้กระทำต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ หรือถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด

9. พนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตและคอร์รัปชันต้องได้รับการยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม และได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แม้การกระทำดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

10. มีการทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติและการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

11. สื่อสาร ฝึกอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน และแนวทางการปฏิบัติที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทุจริตและคอร์รัปชันให้กับพนักงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

 

 

คำสั่ง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ

ประธานกรรมการบริษัท