ภาพรวมธุรกิจเอทานอล
ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้งบริษัท
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่สะอาดและน่าอยู่ รวมทั้งตอบสนองนโยบายของภาครัฐในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนและต่อยอด การพัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าในการผลิต กลุ่มมิตรผลจึงได้ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจเอทานอล ในชื่อ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด
การผลิตเอทานอลของกลุ่มมิตรผล เป็นการนำเอาโมลาสและน้ำอ้อยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ที่ 99.5% เนื่องจากเอทานอลเป็นพลังงานที่ทำมาจากพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกได้ในประเทศไทย เช่นอ้อย และมันสำปะหลัง การส่งเสริมธุรกิจเอทานอลจึงเป็นหนทางหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไทย ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ นอกจากนั้นเอทานอลที่ทำมาจากพืชยังมีส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด
ปัจจุบัน โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทฯ มีทั้งหมด 3 แห่ง ประกอบด้วย
• โรงงานเอทานอลภูเขียว ก่อตั้งเป็นแห่งแรกในปีพ.ศ. 2548 ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผลิตเอทานอลจากโมลาส มีกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน
• โรงงานเอทานอลกาฬสินธุ์ ก่อตั้งเป็นแห่งที่สองในปีพ.ศ. 2549 ที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลิตเอทานอลจากโมลาส มีกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน
• โรงงานเอทานอลด่านช้าง ก่อตั้งเป็นแห่งที่สามในปีพ.ศ. 2552 ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ผลิตเอทานอลจากโมลาส มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน
นอกจากนั้น ยังมีการร่วมทุนระหว่างบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่ใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบภายใต้ชื่อบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2550 ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
มีกำลังการผลิตวันละ 230,000 ลิตร ทำให้โรงงานผลิตเอทานอลของกลุ่มมิตรผล มีกำลังผลิตรวมทประมาณ 1.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 380 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน
รางวัลและความภาคภูมิใจ
• Thailand Energy Award 2015
• ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อส่งออกเอทานอลในฐานะ Advanced Biofuel (D5) จาก US EPA ในปี 2013
วัตถุดิบและกระบวนการผลิตเอทานอล
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเอทานอลคือโมลาส ซึ่งคือกากน้ำตาลที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล โดยกระบวนการผลิตเริ่มจากการนำโมลาสมาหมักด้วยยีสต์ในสภาวะไร้อากาศ เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นเอทานอล จากนั้น จึงส่งเอทานอลที่ได้จากการหมักเข้าสู่กระบวนการกลั่นได้เอทานอลบริสุทธิ์ที่ 95% และนำเข้าสู่กระบวนการแยกน้ำต่อจนได้เอทานอลบริสุทธิ์ที่ 99.5% แล้วจึงนำไปเก็บไว้ที่ถังเก็บเพื่อรอการจำหน่าย
ช่องทางการจัดจำหน่ายและกลุ่มลูกค้า
การจำหน่ายภายในประเทศ
• จำหน่ายให้กับบริษัทน้ำมันต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อใช้ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อาทิ
ปตท. บางจาก เชลล์ เอสโซ่ เชฟรอน
เอทานอล...พลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมด
เชื้อเพลิงเอทานอลถือเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเราสามารถปลูกพืชและนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ไม่มีวันหมด โดยสามารถใช้เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนต่างๆ ซึ่งเราเรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือผสมกับน้ำมันดีเซลก็จะได้เป็นน้ำมันดีโซฮอล์ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เอทานอลบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงได้อีกด้วย การใช้เชื้อเพลิงเอทานอลในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ จะสามารถลดการปลดปล่อยมลพิษได้เกือบทุกชนิด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน เบนซิน และไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น
น้ำมันแก๊สโซฮอล์
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ คือ น้ำมันเบนซินผสมกับเอทานอลในสัดส่วนต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในสัดส่วนผสมเอทานอล 10% 20% และ 85% จึงเรียกชื่อตามสัดส่วนผสมของ เอทานอลว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 E20 และ E85
เอทานอล...พลังงานทดแทนแสนสะอาด
• แต่เดิมนั้นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์คือน้ำมันที่ทำมาฟอสซิล ซึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่อากาศ ในทางตรงกันข้ามเอทานอลเป็นน้ำมันที่ผลิตจากพืช เมื่อมลพิษปล่อยออกมาก็จะถูกต้นไม้รวมถึงอ้อยดูดซับออกไป ทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดเมื่อเทียบการใช้น้ำมันที่มาจากฟอสซิล
• เอทานอล 1 ลิตร ลดการปลดปล่อย CO2 ได้ 1.55 kgCO2 ปัจจุบันประเทศไทยใช้เอทานอลวันละ 3.5 ล้านลิตร คิดเป็นการใช้เอทานอลประมาณ 1,200 ล้านลิตรต่อปี สามารถลดการปลดปล่อย CO2 ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าสักประมาณ 900,000 ไร่ต่อปี
เอทานอลช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
แต่เดิมนั้นโมลาสไม่ได้มีความต้องการในตลาดมากนัก จึงมิได้ดีมีราคาสูง แต่เมื่อประเทศไทยได้นำโมลาสมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ก็ทำให้มีความต้องการและราคาเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ โมลาสนั้นก็เป็นสินค้าที่นำมาใช้คำนวณราคาอ้อยด้วยเช่นกัน จากกราฟด้านล่าง จะเห็นได้ว่าราคาโมลาสที่นำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยในปัจจุบันมีราคาเพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนอย่างมาก
รถยนต์ที่สามารถเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ทุกชนิด
• รถยนต์ FFV (Flex Fuel Vehicle) คือรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ทุกชนิด ตั้งแต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ E20 และแก๊สโซฮอล์ E85 ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ที่จำหน่ายรถยนต์ FFV เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ฮอนด้า มิตซูบิชิ เชฟโรเลต โตโยต้า มาสด้า